ถาม เสรีภาพทางการเมือง คือ อะไร ?
ตอบ เสรีภาพทางการเมืองนั้น ได้แก่ การแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมือง การรวมตัวชุมนุมทางการเมือง ความเชื่อหรือความชอบในลัทธิการเมืองที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ต้องอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดโดยไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เช่น คนหนึ่งชอบและสนใจลัทธิคอมมิวนิสต์หรือนาซีเยอรมันสามารถกระทำได้ แต่จะบังคับให้ผู้อื่นเชื่อเหมือนตนไม่ได้หรือแสดงออกต่อต้านด้วยการใช้กำลังต่อความเชื่อของผู้อื่นไม่ได้
ถาม คนไทยมีเสรีภาพทางการเมืองหรือไม่ ? ใครดูแลเสรีภาพเมื่อถูกละเมิด ?
ตอบ รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 คุ้มครองและยืนยันสิทธิเสรีภาพของคนไทยสำหรับกิจกรรมและความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน ผู้ใดจะละเมิดเสรีภาพนี้ไม่ได้ หมายความว่า คนไทยสามารถคิด เชื่อถือ ศึกษาเรียนรู้ และแสดงความเห็น ทางการเมืองหรือลัทธิปกครองที่แตกต่างกันได้อย่างอิสระ หากผู้ใดละเมิดเสรีภาพของคนไทย ศาลจะต้องพิทักษ์รักษาสิทธิและลงโทษผู้ทำละเมิดต่อเสรีภาพนี้
ถาม ศาลมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้เสรีภาพทางการเมืองของคนไทยได้หรือไม่ ?
ตอบ รัฐธรรมนูญไทยให้เสรีภาพทางการเมืองแก่คนไทย โดยศาลมีหน้าที่ปกป้องและลงโทษผู้ทำละเมิดเสรีภาพนี้ อีกทั้งองค์กรตุลาการต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันด้วย จึงมิได้มีสถานภาพเหนือรัฐธรรมนูญ ศาลไม่มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขห้ามคนไทยใช้เสรีภาพทางการเมือง แม้จะอยู่ในขั้นประกันตัวก็ตาม เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดชัดว่า ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษา ผู้นั้นถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ทั้งนี้การใช้เสรีภาพทางการเมืองต้องไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นด้วย เช่น การพูดปลุกปั่นให้คนทำผิดก.ม.อาญา การยุยงให้คนฆ่าตัวตายประท้วงรัฐบาล เป็นต้น การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่อสาธารณชนเพื่อให้เชื่อในแนวเดียวกับผู้พูด ถือเป็นการใช้เสรีภาพทางการเมือง จึงต้องแยกให้ชัดจาการปลุกปั่นให้คนกระทำความผิดกฎหมายอันต้องใช้วิจารณญาณที่ปราศจากอคติเป็นหลัก
ถาม คนไทยชอบลัทธิอื่นนอกจากประชาธิปไตยได้หรือไม่ ?
ตอบ ความชื่นชอบในลัทธิการปกครองแบบใดเป็นสิทธิส่วนตัวที่ผู้ใดละเมิดไม่ได้ และสามารถแสดงความเห็นที่แตกต่างกันได้เพราะประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่เคารพและยอมรับความเห็นที่ไม่เหมือนกันได้ แต่แสดงออกทางวาจาหรือกายภาพที่ละเมิดต่อกฎหมายไม่ได้
ถาม รัฐบาลบังคับให้คนไทยยอมรับอำนาจเผด็จการได้หรือไม่ ?
ตอบ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นพระประมุข รัฐบาลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาระบอบนี้ไว้ จึงไม่มีอำนาจบังคับให้ประชาชนยอมรับอำนาจแบบอื่นโดยเด็ดขาด หากทำละเมิดบัญญัตินี้ ประชาชนก็มีหน้าที่ปกป้องและตอบโต้ได้ตามสิทธิหน้าที่ของคนไทยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย เช่น การฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามหน่วยงานที่กฎหมายให้อำนาจเพื่อถอดถอนรัฐบาล หรือชุมนุมประท้วงใช้สิทธิ์หรือไม่เลือกพรรคที่ฝักใฝ่เผด็จการเมื่อมีการเลือกตั้ง เป็นต้น
ถาม การพูดเรื่องการเมืองบนเวทีในงานพบปะสังสรรค์ของคนกลุ่มใหญ่ ถือเป็นการใช้เสรีภาพทางการเมืองหรือการปลุกปั่นทางการเมือง ?
ตอบ การโชว์บนเวทีมีหลายอย่าง เช่น การร้องเพลง เล่นดนตรี การพูดโชว์คารม เป็นต้น การพูดโชว์บนเวทีเกี่ยวกับเรื่องการเมืองเป็นเสรีภาพชนิดหนึ่งที่รัฐธรรมนูญไทยคุ้มครองให้คนไทยทำได้ ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม เนื้อหาที่พูดบนเวทีเป็นตัวตัดสินว่า พูดเพื่อใช้เสรีภาพหรือปลุกปั่นยุยงให้สังคมวุ่นวายอันละเมิดกฎหมาย การพูดมุมมองแตกต่างจากรัฐบาลยังถือเป็นการใช้เสรีภาพทางการเมืองของคนไทย เพราะประชาธิปไตยมิได้ห้ามความเห็นแตกต่างกัน หากพูดแล้วขำกันทั้งบ้านทั้งเมืองและมองโลกอย่างมีรอยยิ้ม แม้จะเป็นเรื่องการเมืองเครียดๆ คนกลุ่มเดียวที่ไม่อยากได้ยิน ประชาชนก็ต้องใช้วิจารณญาณอย่างปราศจากอคติมองพิจารณาคนกลุ่มนั้นว่ามีสติสมบูรณ์ในการแยกแยะความแตกต่างหรือไม่ รัฐบาลหรือศาลหรือตำรวจหรือทหารไม่มีอำนาจห้ามคนไทยพูดเรื่องการเมืองบนเวทีสาธารณะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญที่คนไทยมีเสรีภาพทางการเมืองย่อมทำกิจกรรมใดๆอันไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นได้ แม้จะมีมุมมองและความเห็นไม่เหมือนกับรัฐบาลก็ตาม
**********************